ผ้าขิด (กลุ่มทอผ้าขิดบ้านโนนใหญ่)
กลุ่มทอผ้าขิดบ้านโนนใหญ่ ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 108 หมู่ที่ 5 ตำบลนาเกษม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 080–4850245, 085–3149563 จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 และมีงบประมาณของกลุ่ม จำนวน 30,000 บาท ก่อนที่ชาวบ้านจะมาทอผ้าขิดได้ ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร เลี้ยงวัว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ประชุมและปรึกษาหารือกัน หากิจกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อเป็นอาชีพเสริม จึงได้มีมติที่ประตกลงกันว่าจะทอผ้าขิด เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาตั้งแต่ปูย่าตายาย ที่เคยพาลูกหลานทำมาจนปัจจุบัน โดยสวนใหญ่ก็จะเป็นการทำเพื่อใช้เอง ทำไม่มาก สมาชิกในกลุ่มก็สามารถทำได้อยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่
https://2020.nakasem.go.th/our-local/otop/item/120-otop-2#sigProGalleriaf8ba63ce3e
ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพ ลักษณะ ลวดลาย และวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้าด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญ และมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่น ๆ เพราะทอยากมาก มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้เวลา ความอดทน และความละเอียด ลออ มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากทอได้ช้า และผู้ทอต้องมีประสบการณ์และพรสวรรค์ในการทอ
การทอผ้าลายขิด คือ การทอผ้าที่ทอแบบ “เก็บขิด” หรือ “เก็บดอก” เหมือนผ้าที่มีการปักดอกการทอผ้าดอกนี้ชาวอีสานเรียกกันว่า ” การทอผ้าเก็บขิด” ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมันวาว นูนลอยออกมาบนผืนผ้า ชาวอีสานโดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่าลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้นนิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่ เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมาสน์ เป็นต้น แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใสและพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ใบไม้
https://2020.nakasem.go.th/our-local/otop/item/120-otop-2#sigProGalleria6ccc636644
ผ้าลายขิดในภาคอีสาน นอกจากทอในกลุ่มภูไทหรือผู้ไทยและไทลาวอื่น ๆ แล้ว ยังทอในกลุ่มไทกูยหรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจคือ ผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด มีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม
ลักษณะเฉพาะของผ้าทอลายขิด สังเกตดูได้จากลายซ้ำของเส้นพุ่งที่ขึ้นเป็นแนวสีเดียวกันตลอด อาจจะเหมือนกันทั้งผืนหรือไม่เหมือนกันทั้งผืนก็ได้ แต่ต้องมีลายซ้ำที่มีจุดจบแต่ละช่วงของลายเห็นได้ชัด ผ้าทอลายขิดอีสาน ตามที่ได้ทอกันมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมในอดีต จนถึงปัจจุบันนี้ อาจแบ่งกลุ่มแม่ลายผ้าทอลายขิด ได้เป็น 4 ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของเครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด